วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

เทพี อโฟรไดท์ Aphrodite หรือ Venus

เทพี อโฟรไดท์ Aphrodite หรือ Venus

...เทวีองค์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากที่สุดได้แก่เทวี อโฟรไดที่ (Aphrodite) หรือ วีนัส (Venus) ซึ่งงเป็นเจ้าแม่ครองความรักและความงาม สามารถสะกดเทพและมนุษย์ทั้งปวงให้ลุ่มหลง ทั้งอาจจะลบสติปัญญาของผู้ฉลาดให้ตกอยู่ในความโฉดเขลาไปได้ และเจ้าแม่จะคอยหัวเราะเยาะบรรดาผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความเย้ายวนของเจ้าแม่ร่ำไป
 หากจะสืบสาวต้นกำเนิดของอโฟร์ไดที่ อาจต้องสืบสาวไปไกลกว่าตำนานของกรีกเสียอีก เนื่องจากเจ้าแม่มี ต้นกำเนิดมาจากดินแดนซีกโลกตะวันออก ว่ากันว่าเจ้าแม่เป็นเทวีองค์แรกเริ่มของชน ชาติฟีนีเซีย ที่มาตั้งอาณานิคม มากมาย ในดินแดนตะวันออกแถบตะวันออกกลาง ทราบกันมาว่าเจ้าแม่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวอัสสิเรีย กับบาบิโลเนีย ที่มีนามว่า อีชตาร์ (Ishtar) และก็ยังเป็น อันหนึ่งอันเดียวกับเทวีของชาวไซโร-ฟีนิเซี่ยน ผู้มีนามกรว่า แอสตาร์เต (Astarte) จึงนับได้ว่าเป็น เทวีที่มีความสำคัญมากมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตามมหากาพย์อิเลียดของโฮเมอร์ เทวีอโฟรไดที่เป็นเทพธิดาของซูส เกิดกับนางอัปสร ไดโอนี (Dione) แต่บทกวีนิพนธ์ชั้นหลัง ๆ กล่าวว่า เจ้าแม่ผุดขึ้นจากฟอง ทะเล เนื่องจากคำว่า Aphros อันเป็นที่มาของชื่อเจ้าแม่ใน ภาษากรีกแปลว่า "ฟอง" แหล่งกำเนิดของเจ้าแม่อยู่ในทะเลแถว ๆ เกาะ ไซเธอรา (Cythera) จากนั้น เจ้าแม่ถูก คลื่นซัดไปจนถึงเกาะ ไซพรัส (Cyprus) อาศัยเหตุนี้ เกาะทั้งสองจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับเจ้าแม่ และบางทีเจ้าแม่ก็มีชื่อเรียกตามชื่อเกาะทั้งสอง นี้ว่า ไซเธอเรีย (Cytherea) และ ไซเพรียน (Cyprian)
 ตามเรื่องที่เล่ากันแพร่หลายกล่าวว่า เมื่อเทวีอโฟรไดทีถูกคลื่นซัดไปติด ณ เกาะไซพรัสนั้น ฤดูเทวีผู้รักษาทวาร แห่งเขาโอลิมปัสลงมารับพาเจ้าแม่ขึ้นไปยังเทพสภา เทพทุกคนในที่นั้นต่างตะลึงใน ความงามของเจ้าแม่ และต่างองค์ต่าง ก็อยากได้เจ้าแม่เป็นคู่ครอง แม้แต่ซูสเองก็อยากจะได้ แต่เจ้าแม่ ไม่ยินดีด้วย ไท้เธอจึงโปรดประทานเจ้าแม่ให้แก่ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) เทพรูปทรามผู้มีบาทอัน แปเป๋เป็นบำเหน็จรางวัลทดแทนความชอบ ในการที่ฮีฟีสทัส ประกอบอสนียบาตถวายและเป็นการลงโทษ เจ้าแม่ในเหตุที่ไม่ไยดีซูสไปในตัวด้วย
แต่เทพองค์แรกที่เจ้าแม่พิศวาสและร่วมอภิรมย์ด้วยคือ เอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการสงคราม เทพบุตรของซูสเทพบดี เกิดกับเจ้าแม่ ฮีรา ได้เป็นชู้สู่หากับเทวี อโฟรไดที่ จนให้ประสูติบุตรสอง ธิดาหนึ่งรวมเป็นวาม มีนามตามลำดับว่า อีรอส (Eros) หรือ คิวพิด (Cupid) แอนติรอส (Anteros) และ เฮอร์ไมโอนี (Hermione) หรือ ฮาร์โมเนีย (Harmonia) นางเฮอร์ไมโอนีนั้นได้วิวาห์กับ แคดมัส (Cadmus) ผู้สร้างเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นพี่ของนางยุโรปา ผู้ถูกซูสลักพาไป เป็นคู่ร่วมอภิรมย์ ดังเล่ามาแล้วแต่ต้น

 เรื่องราวความรกของเทวีแห่งความงามและความรักอโฟร์ไดที่ไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เจ้าแม่เที่ยวหว่าน เสน่ห์ไปทั่วไม่ว่าเทพหรือมนุษย์ อาทิเช่น การมีจิตปฏิพัทธ์ เสน่หากับเทพเฮอร์มีส จนเกิดมีโอรสองค์หนึ่งนามว่า เฮอร์มาโฟร์ดิทัส (Hermahroditus) ในด้านของมนุษย์เทวีอโฟร์ไดที่ยังเคยแอบไปมีจิตพิศวาสกับบุรุษ เดินดิน เช่น ไปชอบพอกับเจ้าชายชาวโทรยันนามว่า แอนคิซีส (Anchises) จนมีโอรสครึ่งเทพครึ่งมนุษย์ออกมานามว่า เอนิแอส(Aenias) ผู้เป็นต้นตระกลูของ ชาวโรมันทั้งหมด และที่อื้อฉาวฮือฮามากที่สุดได้แก่ การไปแอบรัก สุดหล่อแห่งยุคคือ อโดนิส
ในกาลวันหนึ่ง เจ้าแม่อโฟรไดที่เล่นหัวหยอกเอินอยู่กับอีรอส บังเอิญถูกศรซึ่งอีรอสถืออยู่สะกิดเอาที่อุระ ถึงแม้ว่า จะเป็นแผลเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เจ้าแม่ตกอยู่ในอำนาจพิษศรของบุตรได้ ยังมิทันที่แผลจะ เหือดหาย เจ้าแม่ได้พบกับ อโดนิส (Adonis) มานพหนุ่มพเนจรอยู่ในราวป่า ให้บังเกิดความพิสมัยจนไม่อาจระงับ ยับยั้งอยู่ใน สวรรค์ได้ เจ้าแม่จึงลงมาจากสวรรค์มาพเนจรตามอโดนิส หมายที่จะได้ใกล้ชิดซึ่งกันและกันไม่ว่าจะไป ทางไหนเจ้าแม่ก็จะ ตามไปด้วย

เทวีอโฟรไดที่หลงใหลและเป็นห่วงอโดนิส จนไม่เป็นอันระลึกถึงสถานแห่งหนึ่งแห่งใดที่เคยโปรด เที่ยวติดตาม อโดนิสไปในราวป่าคลอดเวลาเพื่อคอยตักเตือน และกำชับอโดนิสในเวลาล่าสัตว์ มิให้หักหาญเสี่ยงอันตรายมากนัก ให้หลีก เลี่ยงสัตว์ใหญ่ ล่าแต่สัตว์เล็กชนิดที่พอจะล่าได้เท่านั้น ตลอดเวลาที่เฝ้าติดตามเจ้าแม่พะเน้าพะนอเอาใจ อโดนิสด้วยประการ ทั้งปวง
 แต่ความรักของเจ้าแม่ที่มีต่ออโดนิสเป้นความรักข้างเดียว เจ้าหนุ่มหาได้รักตอบเจ้าแม่ไม่ ชะรอยจะเป็น เพราะอีรอสมิได้แผลงศรรักเอากับเจ้าหนุ่มดอกกระมัง ด้วยเหตุนี้อโดนิสจึงไม่แยแสต่อคำกำชับตักเตือนของเจ้าแม่ คงเที่ยวล่าสัตว์ใหญ่น้อยเรื่อยไปตามใจชอบ วันหนึ่งเจ้าแม่อโฟรไดที่มีธุระต้องจากไป จึงทรงเทพยานเทียมหงส์เหิน เหาะไปในนภากาศ ฝ่ายอโดนิสพบหมูป่าแสนดุร้ายเข้าตัวหนึ่ง (บางตำนานเล่าว่าหมูป่าตัวนี้ เกิดจากเสกจำแลงของ เทพเอเรส เนื่องจากหึงหวงความรักที่เทวีอโฟรไดที่มีให้แก่อโดนิส) และตามล่ามันไปจนหมูป่าจนมุมแล้ว อโดนิสก็ ซัดหอกไปถูกหมูป่า แต่หอกพลาดที่สำคัญ หมูป่าได้รับความเจ็บปวดจึงเพิ่มความดุร้ายยิ่งขึ้น จึงรี่เข้าขวิดอโดนิสล้มลง ถึงแก่ความตาย

  เจ้าแม่อโฟรไดที่ได้สดับเสียงร้องโอดโอยของอโดนิสในกลางหาวผินพักตร์มาเห็นดังนั้น จึงชักรถเทียม หงส์กลับลงมายังพื้นปฐพี และลงจากรถเข้าจุมพิตอโดนิสซึ่งกำลังจะสิ้นใจ ครั้นแล้วเจ้าแม่ก็ครวญคร่ำรำพันพิลาปพิไร ด้วยสุดแสนอาลับรัก แถมทึ้งเกศาข้อนทรวงทำอาการต่าง ๆ ตามวิสัยผู้ที่คลุ้มคลั่ง เจ้าแม่รำพันตัดพ้อเทวีครองชะตา กรรมที่ด่วนเด็ดชีวิตผู้เป็นที่รักของเจ้าแม่ให้พรากจากไป ประดุจควักดวงเนตรออกจากเจ้าแม่ก็ไม่ปาน พอค่อยหาย โศกแล้วเจ้าแม่จึงเอื้อนโอษฐ์ออกปณิธานว่า "ถึงมาตรว่าดังนั้นก็อย่าหมายเลยว่า ผู้เป็นที่รักแห่งข้าจะต้องอยู่ ในยมโลกตลอดกาล หยาดโลหิตของอโดนิสแก้วตาข้าจงกลายเป็นบุปผชาติชนิดหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ความ โศกของข้าให้ข้าได้ระลึกถึงวาระเศร้าสลดครั้งนี้เป็นประจำปีเถิด" เมื่ออกปณิธานดังนั้นแล้ว เจ้าแม่ก็พรมน้ำ ต้อยเกสรอันศักดิ์สิทธิ์ลงบนหยาดโลหิตของอโดนิส บัดดลก็มีพันธุ์ไม้ดอกสีแดงเลือดดังสีทับทิมผุดขึ้น ดังมีชื่อเรียกกัน สืบๆ มาว่าดอกอโดนิส หรือ ดอกเออะเนมโมนิ (Anemone) ก็เรียก แปลว่า ดอกตามลม (บางตำนานว่าก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง) เนื่องจากธรรมชาติซึ่งกล่าวกันว่า ลมทำให้ดอกไม้นี้แย้มบานและภายหลังก็พัดกลีบให้ร่วงหล่นไป มีฤดูกาลอยู้ได้เพียงชั่ว 3-4 เดือนเท่านั้น
ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะกลายเป็นเทวีแห่งความงามและความรักนั้น อโฟร์ไดที่เป็นเทวีแห่งความสมบูรณ์ มาก่อน เมืองที่นับถือเจ้าแม่มากที่สุดได้แก่ เมืองปาฟอสในไซปรัสและเมืองไซธีราในเกาะครีต นอกจากนั้น วิหารที่เล่าลือ ว่าโอ่อ่าที่สุดของซีกโลกทางด้านตะวันออกได้แก่ วิหารที่เมืองคนิดุส ในรัฐแคเรีย (Caria) เมื่อเดินทางมาถึงกรีกก็มีผู้ ศรัทธาเชื่อถือสร้างวิหารใหญ่ให้หลายแห่ง รวมทั้งกรุงเอเธนส์ซึ่งมีเทวีเอเธน่า เป็นเทพอุปถัมภ์อยู่บนเนินอโครโปลิสได้กล่าวแล้วว่า อโฟรไดที่เป็นเทวีที่ชาวกรีกและโรมันโบราณถือว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มาก ที่สุด เนื่องจากเจ้าแม่เป็นเทวีครองความรักและความงาม และความงามกับความรักก็เป็นสิ่งที่จับใจคนมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้เจ้าแม่จึงมักเป็นที่เทิดทูนและกล่าวขวัญในวิจิตรศิลป์และวรรณคดีต่าง ๆ นอกจากนั้นชาวกรีก และโรมันยังถือ ว่าเจ้าแม่เป็นเทวีครองความมีลูกดกและการให้กำเนิดทารกอีกด้วย มีคติความเชื่อประการหนึ่งซึ่งอย่างน้อยก็ยังพูดกันติด ปากชาวตะวันตกมาจนถึง ปัจจุบันนี้ว่า ทารกถือกำเนิดเพราะนกกระสานำมา คตินี้สืบเนื่องจากข้อยึดถือของชาวกรีกและ โรมันมาแต่เดิมเหมือนกัน

ในเทพปกรณัมกล่าวว่า นกกระสาเป็นนกประกอบบารมีของอโฟรไดที่ คราวใดมีนกกระสาผัวเมียไปทำรังอยู่บน ยอดหลังคาบ้านใด ก็หมายความว่าเจ้าแม่อโฟรไดที่โปรดให้ครอบครัวในบ้านนั้นมีลูกและจะให้ประสบความรุ่งเรือง ใน ยุโรปโดยเฉพาะภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ถือนกกระสาประหนึ่งที่เคารพทีเดียว ในเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ถือว่านก กระสาเป็นนกที่นำโชคลาภมาให้ ดังนั้นชาวเยอรมันและวิลันดาจึงยินดีที่จะให้นกกระสามาทำรังบนหลังคาบ้านเสมอ ยิ่ง อาศัยอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งเป็นมงคลแก่บ้านนานเท่านั้น นกกระสาจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่าวสำคัญตามเทพนิยาย นิทาน ชาวบ้าน และนิทานเทียบสุภาษิตต่าง ๆ ของฝรั่งด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้
อนึ่งชาวยุโรปทั่วไปเขาเชื่อกันมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษด้วยว่า ในคราวที่บ้านหนึ่งบ้านใดกำลังจะมีเด็ก เจ้าแม่อโฟรไดที่จะให้นกกระสามาบินวนเวียน เหนือบ้านนั้น คตินี้กินความไปถึงว่า ถ้านกกระสาบินวนเหนือบ้านที่กำลังจะมีเด็กเกิด เด็กนั้นจะคลอดออกจากครรภ์โดยง่ายและอยู่รอดด้วย แต่คตินี้ในที่สุดก็เป็นเพียงข้อ อ้างที่พ่อแม่จะใช้ตอบลูกตอนโต ๆ เมื่อถูกถามว่าน้องเล็กเกิดมาแต่ไหน หรือตัวเกิดจากอะไรเท่านั้น
เทวีอโฟร์ไดที่มีต้นเมอร์เทิลเป็นพฤกษาประจำองค์ สัตว์เลี้ยงของเจ้าแม่เป็นนก บ้างว่าเป็นนกเขา นกกระจอกบ้าง หงส์บ้าง ตามแต่กวีคนไหนจะชอบใจยกให้เป็น สัญลักษณ์ของเทวีแห่งความงามและความรัก

 

ศิลปะในสมัยต่างๆ

โพสโมเดิร์น ศิลปะหลังสมัยใหม่

“โพสต์ โมเดิร์น” “หลังสมัยใหม่” ในภาษาอังกฤษคือ post-modern หรือบ้างก็เขียนว่า postmodern หรือ ลัทธิหลังสมัยใหม่ (Postmodernism, โพสต์โมเดิร์นนิสม์)
เป็นที่เข้าใจกันว่าคำว่า โพสต์โมเดิร์นนิสม์ ปรากฏขึ้นครั้งแรกในงานเขียนชื่อ “อาร์คิเทคเจอร์ แอนด์ เดอะ สปิริต ออฟ แมน” (Architecture and the Spirit of Man) ของ โจเซ็พ ฮัดนอท (Joseph Hudnot) ในปี 1949 ต่อมาอีก 20 ปีให้หลัง ชาร์ลส์ เจนส์ (Charles Jencks) ช่วยทำให้แพร่หลายออกไป จนกระทั่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1970 นักวิจารณ์ศิลปะเริ่มใช้คำๆนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ ในตอนนั้นคำว่า โพสต์โมเดิร์น ยังคลุมเครืออยู่มาก แต่โดยมากแล้วบ่งบอกถึงการต่อต้านลัทธิสมัยใหม่ (โมเดิร์นนิสม์)
นักทฤษฎีทั้งหลายเชื่อว่าการเปลี่ยนจากลัทธิสมัยใหม่ไปสู่ หลังสมัยใหม่ นั้นบ่งบอกถึง”สำนึก” ที่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมและระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ บรรษัทข้ามชาติขนาดมหึมาได้ก้าวเข้ามาควบคุมวิถีชีวิตด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมหาชนที่ทรงพลัง ซึ่งได้เข้ามาทำให้เขตแดนของประเทศชาติหมดความหมาย (ในแง่ของการถ่ายเททางข่าวสารข้อมูล อิทธิพลทางศิลปะและวัฒนธรรม) ตัวอย่างเช่น ภาพงานศิลปะในนิตยสารศิลปะที่สามารถเข้าถึงคนดูคนอ่านในระดับนานาชาติได้อย่างรวดเร็ว
ลัทธิทุนนิยมในยุคหลังสมัยใหม่และหลังอุตสาหกรรมได้ทำให้ผู้บริโภคเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ต่อประเด็นต่างๆในโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพรมแดนของโลกตะวันออกและตะวันตกที่ถูกกำหนดขึ้นหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเรื่องการปฏิวัติในด้านสิ่งแวดล้อมโลก ที่เริ่มขึ้นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้การเส้นแบ่งแยกระหว่างลัทธิ “สมัยใหม่” กับ “หลังสมัยใหม่” ชัดเจนขึ้น
“หลังสมัยใหม่” เป็นสัญญานที่บ่งบอกถึงความเสื่อมศรัทธาใน “ความเป็นสมัยใหม่” หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลังสมัยใหม่ ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีอย่างสุดขั้ว แต่ต่อต้าน “ความเจริญ” หรือ “ความก้าวหน้า” แบบลัทธิสมัยใหม่ที่ไม่สนใจ (หรือตอนนั้นยังไม่รู้) ผลกระทบที่รุนแรงต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมความคิดเกี่ยวกับลัทธิ “สมัยใหม่” ต้องการขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่ความเป็นสังคมยุคอุตสาหกรรม แต่ “หลังสมัยใหม่” มีความปราถนาที่จะก้าวไปสู่ยุคอิเล็คโทรนิคมากกว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การทำงานศิลปะสมัยใหม่และทฤษฎีศิลปะต้องอยู่ในกฏเกณฑ์มากขึ้น มีกรอบที่ชัดเจนและแคบลงเกือบจะเหลือแค่ “ศิลปะกระแสหลัก” ที่เป็นแนวนามธรรมกระแสเดียว จากแนวคิดและรูปแบบของศิลปะลัทธิ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) ที่ทำให้ศิลปินในช่วงนั้นกลับไปสู่ความเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด จนเปรียบได้ว่ากลับไปที่เลขศูนย์เลยทีเดียว รูปทรงในศิลปะถูกลดทอนจนเปลือยเปล่า แทบจะไม่มีอะไรให้ดูการมองโลกในแง่ดีและความคิดในเชิงอุดมคติแบบลัทธิสมัยใหม่ต้องหลีกทางให้แก่ความรู้สึกที่ความหยาบกร้านและข้นดำของลัทธิ หลังสมัยใหม่ศิลปะแบบ หลังสมัยใหม่ เติบโตขึ้นจาก พ็อพ อาร์ต (Pop Art), คอนเซ็ปชวล อาร์ต (Conceptual Art) และ เฟมินิสต์ อาร์ต (Feminist art) อันเป็นนวัตกรรมของศิลปินในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960 และ 1970 โดยแท้ พวก หลังสมัยใหม่ ได้ทำการรื้อฟื้นรูปแบบ ประเด็นสาระ หรือเนื้อหาหลายอย่างที่พวกสมัยใหม่เคยดูหมิ่นและรังเกียจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง โรเบิร์ต เว็นทูรี (Robert Venturi) สถาปนิกในยุค 1960 ได้เขียนแสดงความเห็นในงานเขียนที่ชื่อ “คอมเพล็กซิตี้ แอนด์ คอนทราดิคชัน อิน อาร์คิเทคเจอร์” (Complexity and Contradiction in Architecture) (ปี 1966) เกี่ยวกับ “หลังสมัยใหม่” เอาไว้ว่า “คือปัจจัย (ต่างๆ) ที่เป็น “ลูกผสม” แทนที่จะ “บริสุทธิ์”, “ประนีประนอม” แทนที่จะ “สะอาดหมดจด”, “คลุมเครือ” แทนที่จะ “จะแจ้ง”, “วิปริต” พอๆกับที่ “น่าสนใจ”
ด้วยกระแส ลัทธิหลังสมัยใหม่ ทำให้ศิลปะในแนวคิดนี้หันกลับไปหาแนวทางดั้งเดิมบางอย่างที่พวกสมัยใหม่ (ที่ทำงานแนวนามธรรม) ปฏิเสธไม่ยอมทำ เช่น การกลับไปเขียนรูปทิวทัศน์และรูปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และพวก หลังสมัยใหม่ ยังท้าทายการบูชาความเป็นต้นฉบับ ความเป็นตัวของตัวเองที่ไม่เหมือนใครของพวกสมัยใหม่ ด้วยการใช้วิธีการที่เรียกว่า “หยิบยืมมาใช้” (Appropriation, แอ็บโพรพริเอชัน) มาฉกฉวยเอารูปลักษณ์ต่างๆ จากสื่อและประวัติศาสตร์ศิลป์ มานำเสนอใหม่ในบริบทที่เปลี่ยนไปบ้าง ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง เสียดสีบ้างในแวดวงทฤษฎีเกี่ยวกับศิลปะ “หลังสมัยใหม่” ได้ยกเลิกการแบ่งแยกศาสตร์ต่างๆ เช่น การแบ่งศิลปวิจารณ์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา และสื่อสารมวลชนออกจากกัน โดยการนำเอาศาสตร์เหล่านั้นมาผสมร่วมกัน แล้วนำเสนอเป็นทฤษฎีหลังสมัยใหม่ เช่นงานทางความคิดของ มิเชล ฟูโค (Michel Foucault) ฌอง โบดริยารด์ (Jean Baudrillard) และ เฟรดริค เจมสัน (Fredric Jameson)ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในกระแสศิลปะแบบ หลังสมัยใหม่ ในตะวันตกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ นิทรรศการศิลปกรรมย้อนหลัง สำหรับศิลปินที่ดังตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ ทำให้เกิดแรงกดดันต่อศิลปินในการที่จะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ในหลายกรณีได้ทำให้เกิดการประนีประนอมระหว่างการ “ประสบความสำเร็จในอาชีพศิลปิน” กับ “อุดมการณ์ทางศิลปะ” ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับศิลปินในลัทธิสมัยใหม่เลย

โมเดิร์น ศิลปะสมัยใหม่
คริสต์ทศวรรษ 1860-1970
โดยทั่วไปคำว่า โมเดิร์น (Modern คือคำวิเศษณ์ ตรงกับคำว่า “สมัยใหม่” ในภาษาไทย) หมายถึง ความใหม่ ความร่วมยุคร่วมสมัย ศิลปะล้วนแล้วแต่ “ใหม่ (modern)” สำหรับผู้สร้างมัน ถึงแม้ว่าจะเป็น ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance, เรอเนอซองส์) ในฟลอเรนซ์ หรือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในนิวยอร์ค หรือศิลปะที่เขียนขึ้นในวันนี้ ในรูปแบบของศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ยัง “ใหม่ (modern)” ในความหมายนี้

หรืออีกนัยหนึ่ง ในความหมายแบบกำปั้นทุบดินสมัยใหม่ก็คือ สิ่งที่ไม่เก่า สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ “เก่า” หรือ “ประเพณี” ดังเช่น ความสมัยใหม่ในบริบทของสังคมไทย ภาพเขียนของ ขรัวอินโข่ง หรือของ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงสมัยใหม่สำหรับสังคมไทยในสมัยนั้นๆ
เรา(คนไทย) มักจะนึก “ความเป็นฝรั่ง” พร้อมๆกับคำว่าสมัยใหม่ แต่ในความหมายเชิงประวัติศาสตร์ คำว่า “โมเดิร์น” ในศิลปะตะวันตกหมายถึงยุคสมัยจำเพาะในทางประวัติศาสตร์ ระหว่างประมาณคริสต์ทศวรรษ 1860-1970 ในความหมายนี้สมัยใหม่ถูกใช้อธิบายรูปแบบและอุดมคติหรืออุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ในยุคนั้นๆ
ลักษณะสำคัญของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ “ลัทธิสมัยใหม่” (Modernism, โมเดิร์นนิสม์) คือ ทัศนคติใหม่ๆที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้ว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถือกันว่าเป็นยุคปฏิวัติของยุโรป ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ “เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย” ในยุคของตนว่า สามารถมีคุณค่าทางศิลปะได้เท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุคโบราณ หรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรปใน ปี 1848 ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือ ศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะลัทธิสมัยใหม่ยิ่งเติบโต
จิตรกรแนว นีโอ-คลาสสิสม์ (Neo-Classicism) อย่าง ฌาค หลุยส์ ดาวิด (Jacques Louis David) เขียนภาพเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส จิตรกรแนว โรแมนติสิสม์ (Romanticism) อย่าง ฟรานซิสโก เดอ โกย่า (Francisco de Goya) เขียนภาพเหตุการณ์ตอนที่นโปเลียนจากฝรั่งเศสรุกรานสเปน เรื่องราวที่จิตรกรทั้งสองเขียนในภาพของพวกเขา ได้ช่วยแผ้วถางทางของศิลปะในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังที่เห็นได้จากงานศิลปะที่ปฏิเสธการเขียนภาพเกี่ยวกับอดีต ของศิลปิน เรียลลิสม์ (Realism, สัจนิยม) อย่างเช่น กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) และ เอดัวร์ มาเนต์ (Edouard Manet)
ในจุดเริ่มต้นของศิลปินสมัยใหม่ พวก อิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist, Impressionism) และ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ (Post-Impressionist, Post-Impressionism) จะทำการปฏิเสธทั้งการเขียนภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และยังไม่สนใจขนบของการสร้างภาพลวงตา (เขียนให้เหมือนจริงมาก) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา
“ความใหม่” คือสิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ ทัศนคติแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแนวคิดเกี่ยวกับ “อาวองท์-การ์ด” (avant-garde, หัวก้าวหน้า) คำนี้เป็นศัพท์ทางการทหาร หมายถึง ทหารแนวหน้า (advance guard) ศิลปินอาวองท์-การ์ด หรือศิลปินหัวก้าวหน้า ได้กลายเป็นพวกที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสังคม (ก้าวเร็วแซงหน้าจนชาวบ้านตามไม่ทัน) ถึงแม้ว่าความก้าวหน้ามากๆแบบนี้จะได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แต่การที่ศิลปินอิสระจนหลุดพ้นไปจากกรอบของยุคสมัย บางทีก็ถูกปฏิเสธจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์อยู่เหมือนกัน
บทบาทของผู้อุปถัมภ์ศิลปะในอดีตอย่าง ศาสนจักร รัฐ และขุนนาง ที่ลดลงไปอย่างมาก ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ลัทธิสมัยใหม่ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะศิลปินสมัยใหม่จะมีอิสระเสรีที่จะคิดและทำศิลปะที่แตกต่างไปจากอดีต ซึ่งต้องทำตามความชอบของผู้ว่าจ้าง
นอกจากนี้ การค้าขายศิลปะตามระบบทุนนิยม ก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินทำการทดลองอะไรที่แปลกใหม่ คำว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ที่เริ่มแพร่หลายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ยิ่งกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำๆนี้สามารถใช้อธิบายศิลปะที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปิน ที่มีความเป็นปัจเจกสูงเสียจนไม่ต้องการการอ้างอิงไปถึงประเด็นทางสังคมและศาสนา
การเติบโตของ ศิลปะสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการที่สังคมตะวันตกได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความเป็นอุตสาหกรรม”, “ความเป็นเมืองใหญ่แบบมหานคร” และการเป็นสังคมแบบวัตถุนิยมอย่างเต็มที่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศิลปินสมัยใหม่ได้ท้าทายรสนิยมของชนชั้นกลาง โดยหาเรื่องและประเด็นใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ที่ดูแปลกประหลาดไปจากระเบียบแบบแผนดั้งเดิม
ศิลปะสมัยใหม่มักจะมีแนวเนื้อหาเกี่ยวกับ การเฉลิมฉลองเทคโนโลยี การค้นหาจิตวิญญาณ และ การกระตุ้นด้วยความป่าเถื่อน (จากความสนใจในศิลปะของคนป่า (Primitivism)) ศิลปินได้แสดงออกแนวเนื้อหาเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย
แนวเนื้อหาของการเฉลิมฉลองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ได้ปรากฏออกมาในรูปของการชื่นชม “ความเร็ว” ดังที่เห็นได้จากศิลปะในลัทธิ ฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) การใช้แนวคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ปรากฏให้เห็นในงานของพวก คอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism ในสหภาพโซเวียต)
การค้นหาจิตวิญญานจะมีอยู่ในงานของพวก ซิมโบลลิสม์ (Symbolism ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เดอ สตีล หรือ เดอะ สไตล์ (De Stijl/The Style ในเนเธอร์แลนด์) นาบิส (Nabis ในฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษ 1890) และ แดร์ บลาว ไรเตอร์ หรือ เดอะ บลู ไรเดอร์ (Der Blaue Reiter/The Blue Rider ในเมืองมิวนิค เยอรมนี) งานประเภทนี้ถือว่าเป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับวัตถุนิยมในยุคสมัยใหม่
ความสนใจในความเถื่อนของศิลปะจากคนป่าและชาวเกาะ (อัฟริกันและชาวเกาะ หรือ โอเชียนนิค Oceanic) จะปรากฏชัดในงานของ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ (Cubism) และ เยอรมัน เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (German Expressionism ในเยอรมนีช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20) ความสนใจในสิ่งเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นผลของลัทธิ “จักรวรรดินิยม” (Imperialism) ที่นิยมล่าอาณานิคม และอ้างว่าตน (ตะวันตก) “ค้นพบ” วัฒนธรรมของดินแดนอันไกลโพ้นเหล่านั้น